ชวน Peaceful Death คุยเรื่องการตาย
และเส้นทางการุณยฆาตในไทย

Peaceful Death

ชื่อคุ้นหูที่ใคร ๆ ก็บอกว่าถ้าอยากคุยเรื่องความตาย การตายดี หรือการวางแผนการตายจะต้องหาโอกาสสักครั้งในการเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มนี้

Rights to Die จึงนับสามสองหนึ่งในใจและหอบหิ้วความหวังของการวางแผนการตายและการุณยฆาตเข้าไปนั่งคุยกับ วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death บนเส้นทางการทำงานเรื่อง ‘ความตาย’ มาตลอด 20 ปี

ช่วยแนะนำตัวหน่อย ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่บ้าง

วรรณา จารุสมบูรณ์ เป็นประธานกลุ่ม Peaceful death และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา ส่วนตัวทำงานเกี่ยวกับเรื่องการตายดีมาประมาณเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเรื่องของความรู้ทักษะแล้วก็เรื่องของการดูแลประคับประคองในประเทศไทย แล้วก็ยังเป็นกรรมการสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายด้วย

peaceful death ทำงานเรื่องอะไรอยู่บ้าง และกำลังผลักดันประเด็นอะไร

มีหลายช่วง เพราะว่าทำงานกันมาเกิน 10 ปี

 ช่วงแรก เป็นเรื่องการสื่อสารสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเตรียมตัวและวางแผนในระยะสุดท้าย ซึ่งสังคมไทยก็มักจะมีแบบความเชื่อว่า “เรื่องตายอย่าพูดมันไม่เป็นมงคล” มันก็เลยทำให้เรื่องของการเตรียมตัวตายแล้วก็การวางแผนชีวิตในระยะท้าย (advanced care plan หรือ living will) เป็นเรื่องที่พูดยากในสังคมไทย

การที่จะให้คนไปวางแผนสุขภาพหรือไปสั่งเสียเขียน living will มันก็จะไม่เกิดขึ้น ในเฟสแรกเราก็เลยเริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักให้คนเห็นว่าจริงๆ ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ แต่ว่ามันสามารถเตรียมตัวได้ ถ้าเราเตรียมตัววางแผนได้ดี มันก็จะมีช่วงสุดท้ายที่ราบรื่น แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัวเกินไป 

ยิ่งถ้ากลัวเจ็บ กลัวปวด ตอนนี้มันก็มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยดูแลเรื่องความปวดคุณได้ หรือถ้าเกิดว่าไม่อยากยื้อชีวิต ก็ต้องทำความรู้จักกับการดูแลประคับประคอง (palliative care) เช่น ถ้าตอนสุดท้ายไม่อยากให้ใครมายื้อชีวิต คุณจะต้องทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาไว้

ช่วงแรกจึงเป็นการทำแคมเปญรณรงค์ จนนำมาสู่การออกแบบเครื่องมือให้คนได้ใช้งาน อย่างเช่น สมุดเบาใจ

ช่วงที่ 2 จะเป็นเรื่องของการ่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงกว้างมากขึ้น เช่น การทำงานร่วมกับโรงพยาบาลที่เขาต้องดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้โรงพยาบาลมีแผนกการดูแลประคับประคอง หรือกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการวางแผนดูแลล่วงหน้าได้มากขึ้นนะ เช่น เข้าไปพูดคุยกับโรงพยาบาลเรื่องการเปิดคลินิกเบาใจ โดยสามารถให้อาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่พยาบาลที่เกษียณแล้วมาให้ความรู้ประชาชน หรือชวนเขาวางแผนดูแลการตายล่วงหน้า

นอกจากนั้นก็เป็นการทำงานร่วมกับธุรกิจ องค์กรต่าง ๆ ที่เขาพอจะสนใจให้พนักงานมีความรู้เรื่องนี้ เราก็จะเข้าไปจัดกิจกรรม ให้ความรู้กับคนในองค์กร ประกอบกับกลุ่มสถานศึกษา หรือคนที่มีโอกาสสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เช่น โรงเรียนแพทย์ หรือ คณะที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสุขภาพ รวมถึงชุมชน ที่มีความสนใจอยากจะให้ อสม. หรือว่า care giver มีความรู้เรื่องนี้ เราก็พยายามที่จะเอา ความรู้ เครื่องมือ ไปให้ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้เป็นส่วนของการทำงานหลัก ๆ สองด้านคือ 

หนึ่ง สร้างความร่วมมือ และสองทำคอนเทนต์ ทำขั้นตอน ทำเครื่องมือไว้เพื่อให้เขาพร้อมเอาไปใช้งาน

ส่วน ช่วงที่ 3 ในระดับปัจเจกบุคคล มันพอเห็นว่าสังคมเริ่มมีความตระหนักเพิ่มขึ้น รวมถึงเราได้ร่วมมือกับกลุ่มเอเจนซี่ทำโฆษณา เราเริ่มเห็นว่างานมันเริ่มไปไกล แต่ก็มาเจอตอในด่านนี้คือ เราเห็นว่าระดับปัจเจกยังเตรียมตัวไม่พอ เช่น บางครอบครัวไม่มีผู้ดูแลเลย นั่นหมายความว่าถ้าเขาอยากตายดีมันต้องมีระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมที่มันเอื้อให้เขาตายดีได้ในชุมชน ก็เลยทำให้เรามาทำเรื่องชุมชนกรุณา ซึ่งช่วงของชุมชนกรุณาทำเป็นปีที่ 6 แล้ว ผ่านการเสริมพลังอำนาจให้กับชุมชน ให้เขามีความรู้ มีทักษะในการจัดการดูแลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของสมาชิกในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นป่วยเรื้อรัง ป่วยระยะท้าย หรือว่าในช่วงการตายและก็การดูแลหลังสูญเสีย ทำอย่างไรให้ชุมชนลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ได้ 

ย้อนกลับมาในปัจจุบันหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสถานชีวาภิบาลออกมาซึ่งก็มุ่งที่จะให้มันมีสถานที่รองรับกลุ่มผู้ป่วยระยะท้ายที่ไม่มีที่ไป เช่น คนไร้บ้าน ผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ หรือผู้ป่วยที่แบบจิตเวช หรือคนที่แบบอดีตผู้ต้องขังที่ออกมาแล้วไม่มีผู้ดูแล เป็นต้น 

เแต่ในมุมของ peaceful death เราสถานชีวาภิบาลมันเป็นแค่รูปแบบหนึ่งเท่านั้นแต่จริงๆเราต้องการระบบมากกว่า ทำอย่างไรให้มันเกิดระบบชีวาภิบาล ที่หมายความว่าคนทุกคนสามารถเข้าถึง 

เราต้องพูดถึงทั้งระบบของชีวาภิบาลเลยว่ามีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง แล้วต้องพัฒนาตรงไหนที่จะทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น อย่างเช่นคนใน กทม. เข้าถึงเรื่อง palliative care น้อยกว่าคนต่างจังหวัดเยอะ เพราะด้วยรูปแบบการบริหารจัดการเรื่อง service หรือหน่วยบริการใน กทม. มันมีหลายสังกัด มันทำให้การทำงานที่มันยังไม่บูรณาการเข้าด้วยกันทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าตนเองจะไปอยู่ตรงไหน ก็เลยกลายเป็นเฟสใหม่ที่ถือว่าเป็นเฟสพิเศษผ่านความพยายามในการยกระดับเรื่องของการดูแลประคับประคองให้มันเป็นนโยบายหรือการออกแบบระบบโครงสร้างที่เอื้อให้คนเข้าถึงการดูแลประคับประคองได้มากขึ้น ส่วนที่เข้าถึงอยู่แล้วก็ควรให้มันมีคุณภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ

ตลอดการทำงานที่ผ่านมา เจอความยากลำบากหรือเจอแรงต้านอะไรไหมกับการทำงานเรื่องนี้

เรื่องความตายเป็นอะไรที่คนไม่ค่อยอยากพูดถึงอยู่แล้ว คนที่จะสนใจเรื่องนี้จึงอาจเป็นกลุ่มที่มีพ่อแม่เจ็บป่วย คนที่ตัวเองเจ็บป่วยในระยะท้ายอย่างเช่นเป็นมะเร็ง หรือคนที่แบบผ่านความสูญเสียมาแล้วรู้ว่าเรื่องนี้มันสำคัญ ดังนั้นมันจึงเป็นกลุ่มเล็กมาก ๆ ที่มาสนใจเรื่องความตาย ดังนั้นความยากของมันคือว่าทำให้คนส่วนใหญ่ที่เขายังไม่เอา ไม่ชอบ ไม่อยากพูดถึง เริ่มมาสนใจได้ยังไง อันนี้อันที่หนึ่งเนอะ ซึ่งมันก็เป็นเหตุให้เราต้องทำงานกับ agency ทำงานกับนักโฆษณา ทำงานแคมเปญทำงานแบบ event เพื่อให้คนได้ยินเรื่องพวกนี้มากขึ้น เช่นงาน happy death day เราก็ตั้งใจให้กลุ่มคนไม่เคยสนใจเริ่มสนใจ

ความยากอันที่สองคือว่าการที่จะช่วยให้คนคนหนึ่งตายดีได้มันมีหลายสาเหตุปัจจัยมาก ตั้งแต่ตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยคิดเตรียมตัววางแผนไว้ไหม ครอบครัวเข้าใจไหม และมีความพร้อมไหม รู้ไหมว่าจะต้องดูแลกันอย่างไร ตั้งแต่ความรู้ ทักษะ ความมั่นใจต่างๆ มากไปกว่านั้น คือ สมมติผู้ป่วยพร้อมอยากดูแลในช่วงท้ายแบบนี้ ญาติก็เอาด้วย แต่มันยังไม่พอ เพราะว่าต้องมีระบบสนับสนุนด้วย ในบางครอบครัวไม่ใช่วันสองวัน บางคนเขาป่วยช่วงท้ายนี่อาจจะเป็นปีแล้วก็ติดเตียง 

นั่นหมายถึงว่า หนึ่งคุณต้องมีคนดูแล (care giver) 24 ชั่วโมง ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดูแล ซึ่งมันเป็น ภาระมหาศาลมากที่ครอบครัวต้องแบกรับ บางครอบครัวที่มีสถานะหรือว่าเขาเบิกได้ มันก็แบบโอเค แต่ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำมันสูง คนจนมากกว่าคนรวย

จึงเกิดเป็นชุมชนกรุณา เขาอยากตายที่บ้านแต่ไม่มีคนดูแลเลย ชุมชนจะรับมือยังไง ชุมชนจะช่วยยังไง ชุมชนจะออกแบบการดูแลยังไง ที่ทำให้คนคนนี้เขายังได้ตายดีที่บ้าน แม้ว่าเขาจะไม่มีลูกหลานมาดูแลซึ่งบางชุมชนอาจจะมี อสม. แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันสลับกันมาโดยมีจิตอาสาหรือมีเพื่อนบ้านที่คอยทำกับข้าวกับปลามาให้

ส่วนความยากอันที่สาม คือ ระบบบริการ ระบบนโยบาย หรือระบบสังคมของเรานี่มันออกแบบแบบแยกส่วน  ทุกคนก็ทำงานกันเป็นแท่ใครแท่งมันแล้วก็ไม่บูรณาการกัน ทำให้หลายครั้งคนที่ควรได้รับการดูแลกลับไม่ได้หรือว่างานมันก็ซ้ำซ้อนกัน บ้านหลังหนึ่งบางทีทีมนี้มาเยี่ยมทีทีมนู้นมาเยี่ยมที เพราะเขาไม่ทำงานเชื่อมโยงกัน

ในเชิงการบริหารจัดการงบประมาณการดูแลเรื่อง สวัสดิการเลยมีข้อจำกัดเยอะมากก็เลยมีคนพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้เพราะว่าบ้านเราคนจนเยอะมากแต่การออกแบบระบบเรารับเอามาจากอเมริกาที่เป็นลักษณะ “ใครมือยาวก็สาวได้สาวเอา” มันก็เลยทำให้มีประชากรส่วนหนึ่งที่อยู่ส่วนปลายของภูเขาที่เขาสามารถเข้าถึง palliative care คุณจะไปอยู่แบบไหนก็ได้รับการดูแลอย่างดีไปเลย แล้วก็มีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่า palliative care คืออะไร 

ถ้าต้องให้คะแนนระบบดูแลประคับประคองในไทยตอนนี้ เต็ม 10 ได้เท่าไหร่

ภาพรวมได้ประมาณซัก 5 – 6 คะแนน ถ้าในต่างจังหวัด ประมาณ 6 แต่ว่าถ้าในกรุงเทพฯ อาจจะแค่ 1 – 2 เท่านั้นเอง ไม่น่าเชื่อนะว่าในกรุงเทพฯ ที่ควรจะเป็นอะไรที่เข้าถึงได้มากกว่าที่อื่นๆ แต่กรุงเทพระบบ มีความยืดหยุ่นน้อยในระหว่างในขณะที่ต่างจังหวัดมีความสามารถในการปรับตัวและมีจุดที่เชื่อมโยงกันได้มากกว่า

จุดที่ทำคะแนนหล่นหายไปคือ มีประชากรจำนวนมากที่ควรได้รับการดูแลประคับประคอง แต่ยังเข้าไม่ถึง เช่น คนที่ยังนอนอยู่ในไอซียูใส่ท่อรอจนกว่าเขาจะเสียชีวิต ถ้าพูดในแง่ของระบบการเงินของประเทศ ก็ถือว่าเปลืองเตียงมหาศาล การจัดสรรทรัพยากร โรงพยาบาลมีเท่าไหร่ก็จะไม่พอ ทั้งที่จริงแล้วเขาควรจะมีสิทธิ์เลือกได้ว่าเขาอยากจะได้รับการดูแลแบบไหน 

เคยมีคนเคยศึกษาวิจัยว่าการดูแลรักษาในช่วงหกเดือนสุดท้ายมันใช้เม็ดเงินมากกว่าประมาณ 50 – 60% ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด แปลว่ามันใช้เงินท่วมท้น ถ้าเกิดว่าเขารู้ก่อนว่าถ้าวันหนึ่งเขาจะเจ็บป่วยในระยะท้ายและสามารถเลือกการดูแลแบบประคับประคองได้   เขาอาจจะไม่เลือกนอนรอความตายที่ไอซียู เพียงแต่ว่าพอเขากลับบ้าน ระบบก็ต้องออกแบบ Support system เช่น มียาไปถึงบ้านได้ ถ้าญาติรู้สึกดูแลไม่ไหวก็ต้องมีแพทย์พยาบาลให้คำปรึกษา หรือสามารถไปเยี่ยมบ้าน ช่วยเขาจัดการอาการรบกวนต่างๆ 

แต่คนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงตรงนี้ก็สูญเสียโอกาสที่จะได้ตายดีในแบบที่เขาต้องการ โดยเฉพาะญาติที่ไม่รู้เรื่องนี้ก็อาจจะรู้สึกว่าแบบต้องให้อยู่โรงพยาบาลมันถึงจะสมศักดิ์ศรี นำไปสู่กระบวนการยื้อชีวิตซึ่งสร้างความทุกข์ให้กับผู้ป่วยและสร้างภาระให้กับครอบครัวไม่น้อยเลย 

ส่วนหนึ่งระบบยังไม่ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น คนในตัวเมืองทุกวันนี้อาจไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่อยู่คอนโดเวลาพ่อแม่ป่วยขึ้นมา แปลว่าเราจะออกแบบอย่างไรที่จะสามารถดูแลพ่อแม่ได้ ในขณะที่เราก็ได้ทำหน้าที่ลูก

แต่ในวิถีชีวิตคนเมืองปัจจุบันมันไม่ใช่แบบนั้นแล้วเราจะสามารถทำอย่างไรให้เขาตายดีได้ที่คอนโดหรือว่าแบบถ้าเขาอยู่ลำพังสองคนพ่อแม่ เขาจะตายดีได้อย่างไร 

ยกตัวอย่างความไม่ยืดหยุ่นในกทม.ให้ฟังหน่อย ทำไมถึงได้คะแนนน้อยกว่าต่างจังหวัดมาก

โรงพยาบาลในสังกัด กทม. มีหลายสังกัด มีโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ก็คือศาลาว่ากลางกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักการแพทย์ของกทม. โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ของสพธ.โรงพยาบาลมูลนิธิ โรงพยาบาลบางที่ที่จะยึดกับมหาวิทยาลัยแพทย์ แล้วก็มีโรงพยาบาลเอกชน แล้วก็อาจมีโรงพยาบาลที่เป็นลักษณะกึ่งการกุศลช่วยโรงพยาบาลศาสนา พวกคามิเลียน พวกกรุงเทพคริสเตียน พวกหัวเฉียว 

เขาไม่ได้แบ่งกันดูแลเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพราะมันคนละสังกัด สมมติว่าเขาไม่อยากรักษากับโรงพยาบาลในสังกัดกทม.เพราะไม่เชื่อถือ ก็ไปอยู่รามาฯ ศิริราชฯ หรือว่าจุฬาฯ อย่างนี้ แล้วเขาประสงค์อยากจะกลับมาเสียชีวิตที่บ้าน เขาจะส่งคนไข้กันอย่างไร 

บางทีสมมติว่าหมอที่จุฬาฯ บอกว่าคนไข้อยู่ในระยะสุดท้ายแล้วบางคนอาจจะขอกลับไปที่บ้าน แต่พอกลับไปที่บ้านแล้วไม่มีคนรับเรื่องต่อ พอคนไข้ทรมานมาก ดูแลไม่ไหวก็โทรให้ 1669 รับมาที่โรงพยาบาล แล้วสุดท้ายมาใส่ท่อกันอยู่ที่โรงพยาบาล ทั้งที่คนไข้บอกว่าฉันอยากจะตายสงบ อยากตายดีที่บ้านแต่ก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะไม่มีใครมารับลูกต่อ

อีกตัวอย่างปัญหาคือ ตัวโครงสร้างทางสังคมของในกรุงเทพฯ มีความยาก มีประชากรแฝง ที่ไม่ใช่คนกทม. เช่น คนอีสานย้ายแรงงานมาทำขับแท็กซี่ ทำงานต่าง ๆ เขาเองก็ไม่รู้ว่าถ้าเขาใช้สิทธิ์ในการรักษาที่ไหน เป็นความยากในการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองและการดูแลรักษาที่ต่อเนื่องถ้าจะให้เขาย้ายกลับไปบ้านตามสิทธิการรักษา แต่เขาไม่มีบ้าน ไม่มีอะไรเหลือที่นั่นแล้วจะทำอย่างไร

ปัญหาสุดท้ายของกรุงเทพฯ คือ การเข้าถึงมอร์ฟีน ยากลุ่ม มอร์ฟีนเป็นยากลุ่มใช้แล้วได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งในระดับสากลรับรองว่าการเข้าถึงมอร์ฟีนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นการชี้วัดถึงคุณภาพการบริการประคับประคองในแต่ละประเทศ ถ้าคุณไม่สามารถจัดหามอร์ฟีน ให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้แปลว่าคนไข้จะไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี 

ในต่างจังหวัดจะมีการแบ่งงานกันในแต่ละพื้นที่สุขภาพ ถ้าเกิดยาในพื้นที่ไม่เพียงพอจะยืมยากันอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่พัฒนากันมาตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว แต่ก็กรุงเทพกลับเป็นปัญหามาก 

peaceful death เคยพูดคุยหรือศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการการุณยฆาตไหม

เราติดตามสถานการณ์ว่ามีประเทศไหนบ้างที่เขาอนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตได้ ซึ่งก็ทำความเข้าใจก่อนว่าเฉดมันไม่เหมือนกันเลย เวลาที่คนไทยพูดถึงการุณยฆาตมันต้องช่วยกันนิยามช่วยกันว่าภาพในหัวของคุณคืออย่างไร เพราะทุกวันนี้มันมีตั้งแต่ว่า ถ้าดีที่สุดนะคือว่าเขาป่วยอยู่ในระยะท้ายแล้วเราไม่ไปใส่ท่อใส่อะไรที่ทำให้เขาเจ็บปวดซึ่งอยู่ในการดูแลประคับประคอง

“เราทำอยู่แล้วสำหรับกลุ่มที่ไม่อยากยื้อชีวิต”

ส่วนที่สองก็คือว่าเวลาที่เขาใส่ท่อไปแล้วแล้วเขาประสงค์อยากเอาออกร่วมกับแพทย์เห็นว่าการใส่ไว้ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย ซึ่งก็อยู่ในการดูแลประคับประคองเช่นกัน 

แต่ที่มีคนพูดถึงการุณยฆาตเยอะ ๆ ก็คือว่าในกรณีที่เขาอยากจะยุติชีวิต ไม่ประสงค์ที่จะมีชีวิตต่อไป อยากให้มีการกระทำเพื่อเป็นการยุติชีวิต ซึ่งในบ้านเรากฎหมายการเร่งให้ตายเร็วทำไม่ได้

เช่น บางโรคที่มันอยู่ในขอบเขตที่ต่อให้คุณดูแลประคับประคองแล้วยังเจ็บปวดและทำให้รู้สึกสูญเสียความเป็นมนุษย์ สมมติเขาร้องขอ แล้วทุกคนคณะกรรมการมีมติว่า เขาอยู่ในเกณฑ์ที่เจ็บปวดอย่างรุนแรงแสนสาหัส งั้นเราก็ช่วยให้เขาได้จากไปอย่างสงบก็ช่วยในการยุติชีวิต ซึ่งอันนี้ก็คือโดยการช่วยเหลือทางการแพทย์ ในบางประเทศก็จะมีแบบดริปยาให้คนไข้ค่อย ๆ หลับไป หรือแบบฉันเตรียมยาผสมยาให้นะแต่คุณลงมือเอง

บางทีเราก็ต้องเข้าใจว่าการการุณยฆาตหมายถึงอะไร มีบางกลุ่มที่ตอนนี้เขาเรี ยกร้องกันมากขึ้นว่าในกรณีที่บางคนชีวิตมันเจ็บปวดมากแต่ก็ไม่แข็งแรงพอที่จะฆ่าตัวตาย ฉันขอหมอทำการุณยฆาตได้ไหม 

เวลาพูดเรื่องการการุณยฆาต เราพูดเรื่องถึงในขอบเขตไหน บางคนก็เข้าใจผิดว่า การที่เราถอดถอนท่อช่วยหายใจของคนไข้ในระยะท้ายอันนี้เรียกการุณยฆาต ซึ่งเราไม่เรียกอย่างนั้น เพราะกระบวนการนี้อยู่ในการดูแลแบบประคับประคองอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าในหลายประเทศอาจจะเริ่มมีประเด็นเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นเหมือนในไทย อย่างในออสเตรเลียมีกลุ่มที่เขาเสนอกฎหมายนี้ขึ้นมาทั้งที่ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการดูแลแบบประคับประคองดีติดหนึ่งในห้าของโลก อาจจะเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับสองด้วยซ้ำแต่ก็ยังมีคนเสนอ การการุณฆาตขึ้นมา ชี้ให้เห็นว่ามันไม่ได้มีปัญหาแค่จากความเจ็บปวดอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาทางสังคมด้วย 

มีรายงานว่ามีอัตราพบผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุน้อยลง สมมติจินตนาการว่า อายุ 50 แล้วเป็นโรคสมองเสื่อม จำตัวเองไม่ได้แล้ว กระทั่งไม่รู้ว่าต้องแต่งตัว ต้องกินข้าวอะไรยังไง มันคงเจ็บปวดมากถ้าวันหนึ่งเราจะต้องเป็นคนที่แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่รู้จัก เดินแก้ผ้าไปตามถนน

มันเริ่มมีเรื่องพวกนี้มากขึ้น ซึ่งมันมาจากความกลัวของคนยุคปัจจุบันโดยเฉพาะคนในเมือง เราอยู่ในโลกเสมือน อยู่ในโซเชียล เรามีเพื่อนใน Facebook มากมายแต่คนที่อยู่ข้าง ๆ ในวันที่เราต้องการความช่วยเหลือมันแทบหาไม่ได้ ความกลัวเหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากในโลกใบนี้เริ่มรู้สึกว่าถ้าต้องอยู่ในสภาพแบบนั้นฉันขอตายดีกว่า 

One Response